ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลมะเร็ง

ภาวะที่เซลล์ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในพันธุกรรม ทำให้มีการเจริญเติบโตมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมและจำกัดขอบเขตได้ ทำให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย ( Cancer )

Cancer

โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งได้มากยิ่งขึ้น

โรคมะเร็ง คืออะไร?

มะเร็ง (Cancer) หรือเนื้องอกร้าย คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างไร้ขอบเขตและไร้การควบคุม เซลล์ร้ายพัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็งที่รบกวนการทำงานของเซลล์ปกติในอวัยวะ และแพร่กระจายลุกลามผ่านทางระบบเลือด และระบบทางเดินน้ำเหลืองไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ ลำไส้ เต้านม หรือต่อมน้ำเหลือง มะเร็งแตกต่างตามตำแหน่งของอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของโรคและชนิดของเซลล์มะเร็ง

เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้อย่างไร?

โดยทั่วไป ร่างกายมนุษย์จะผลิตเซลล์ตามธรรมชาติ โดยเซลล์จะเจริญเติบโต เกิดการแบ่งตัว และทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามอวัยวะส่วนนั้นของร่างกาย การทำงานของของเซลล์จะถูกกำหนดหน้าที่โดยสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) แต่เมื่อใดก็ตามที่เซลล์เกิดการกลายพันธุ์ภายในโครงสร้างของดีเอ็นเอ เซลล์จะเกิดการแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้และพัฒนาต่อไปกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายขนาดเป็นก้อนมะเร็งในอวัยวะต้นกำเนิด โดยเซลล์มะเร็งเหล่านี้สามารถเล็ดลอดจากกระบวนการกำจัดเซลล์ร้ายตามธรรมชาติและดำรงอยู่ในร่างกายแก่อนที่จะลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ และขัดขวางกระบวนการทำงานในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน แพทย์จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งได้ว่ามาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียวหรือมาจากหลากหลายสาเหตุ การตระหนักและตื่นตัวต่อปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งสามารถจำแนกได้จากปัจจัยภายนอก เช่น ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ PM2.5 หรือสารก่อมะเร็ง และจากปัจจัยภายใน เช่น พันธุกรรม กรรมพันธุ์ ดังนี้

ปัจจัยภายนอก ได้แก่

  • บุหรี่ และการสูดดมควันบุหรี่มือสอง เป็นปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา ผู้ที่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสองเป็นประจำมีแนวโน้มสูงที่จะตรวจพบมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งปากมดลูก
  • สารเคมี เช่น เบนซิน (Benzene) แร่ใยหิน  แคดเมียม  นิกเกิล พอลิไวนิลคลอไรด์ ยาฆ่าแมลง 
  • สิ่งแวดล้อม การสัมผัสกับสารพิษในสิ่งแวดล้อม เช่น 5 ก๊าซเรดอน (Radon) ยูเรเนียม (Uranium) ไอเสียจากดีเซล หรือผลิตภัณฑ์จากถ่านหิน
  • เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสแอชพีวี (HPV virus) ไวรัสตับอักเสบบีและซี (Hepatitis B & C virus)
  • รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
  • มีประวัติเคยผ่านการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งมาก่อน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไทรอยด์
  • แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้
  • การรับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป พบความสัมพันธ์ในการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุมดลูกจากการได้รับการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
  • สารก่อมะเร็งในอาหาร เช่น อาหารการกิน อาหารปิ้ง ย่าง หรือทอดที่ไหม้เกรียม สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา สารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เช่น สารไนโตรซามีน  ที่มีอยู่ในอาหารหมักดอง
  • การรับประทานอาหารไขมันสูง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร

สัญญาณและอาการของโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งหลายชนิดไม่มีอาการแสดงในระยะแรกเริ่ม และมะเร็งบางชนิดอยู่ในอวัยวะที่ตรวจพบได้ยาก หรือถูกบดบังโดยอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย จนเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ สัญญาณและอาการของมะเร็งจึงจะแสดงออกอย่างชัดเจน โดยสัญญาณและอาการของโรคมะเร็งที่ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ได้แก่

  • มีเลือดออกผิดปกติในบริเวณต่าง ๆ เช่น ทวารหนัก ปากมดลูก
  • ภาวะกลืนอาหารลำบาก รู้สึกเสียดท้องบ่อย
  • เป็นไข้เรื้อรัง
  • ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะลำบาก
  • อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน อุจจาระลำบาก
  • ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด เสียงแหบแห้ง
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก
  • แผลหายช้า หรือเป็นแผลเรื้อรัง
  • คลำได้ก้อนที่คอ เต้านม หรือตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ไฝ หูด หรือปานบนร่างกายขยายขนาดใหญ่ขึ้น คัน หรือมีเลือดออก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอด

วิธีการรักษาโรคมะเร็ง

การรักษามะเร็งสามารถกระทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ประเภท ระยะของการดำเนินโรค และความต้องการเฉพาะบุคคล ดังนี้

  • การผ่าตัด (Surgery)การผ่าตัดเป็นทางเลือกหลักสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะแรกเริ่ม โดยสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในบางกรณี อาจใช้การฉายแสงหรือใช้เคมีบำบัดควบคู่เพื่อลดขนาดเซลล์มะเร็งก่อนการผ่าตัด
  • การบำบัดด้วยรังสี (Radiotherapy)ใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นสูงเพื่อลดขนาดเนื้องอกผ่านการฆ่าเซลล์มะเร็ง วิธีนี้มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในช่วงการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีอาจเป็นทางเลือกหลักในการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม
  • การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)การให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านการกินหรือฉีดเข้าเส้นเลือดนอกจากนี้เคมีบำบัดยังสามารถใช้บรรเทาอาการปวดจากก้อนมะเร็ง

การฉายเเสงเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

 พฤติกรรมที่ควรทำ และควรเลี่ยง เพื่อห่างไกลโรคมะเร็ง

  • งดสูบบุหรี่และอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและรับประทานอาหารอย่างสมดุล ดูแลสุขภาพ โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
    เลือกรับประทานผักผลไม้ที่หลากหลายเน้นการรับประทานอาหารประเภทธัญพืชและอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • อย่ารับประทานอาหารที่หมดอายุหรือมีเชื้อรา
  • ลด หรืองดเว้นการรับประทานอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง และหมักดอง
  • หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรืออยู่ในที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาอุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันร่างกายหรือผิวหนังจากแสงแดด และควรทาครีมกันแดดทั้งผิวหน้าและผิวกาย
  • ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความเครียด
  • ตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำทุกปี
  • หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการปกติซึ่งเป็นอาการของโรคมะเร็งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที

เนื้อหานี้เหมาะสมกับหมวดหมู่ สุขภาพ

kanyarat sakunkim

kanyarat sakunkim

2 comments

Andy Anderson

Andy Anderson

March 12, 2022

Mary Williams

Mary Williams

March 12, 2022

Tell us what you think!

You are replying to Mary Williams. You can post a new comment instead.

บทความที่เกี่ยวข้อง