ว่านหางจระเข้ สมุนไพรสารพัดประโยชน์

สมุนไพรไทยอย่างว่านหางจระเข้ ที่นิยมปลูกกันเเทบทุกบ้านนั้นมีประโยชน์มากมายทั้งด้านความสวยงาม เเละมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ( aloe vera )

 aloe vera

สมุนไพรพื้นบ้านอย่างว่านหางจระเข้ที่มีประโยชน์ทั้งกินได้ นำมาทารักษาแผล บำรุงผิวพรรณ บำรุงผม ทุกส่วนของว่านหางจระเข้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพได้ทั้งหมด

ว่านหางจระเข้มีสรรพคุณอย่างไร

“ว่านหางจระเข้” หรือ Aloe vera เป็นพืชสมุนไพรที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างกับร่างกาย ทั้งภายในและภายนอก เช่น การพอกหน้า รักษาแผลน้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้ดับพิษร้อน รวมถึงบรรเทาอาการปวดข้อสำหรับผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ ว่านหางจระเข้นั้นมีลักษณะใบที่หนา และยาว โคนใบใหญ่ และมีปลายใบที่เรียวแหลม มีขอบใบเป็นหยักหนาม และออกใบเดี่ยวเรียงวนรอบต้น ทำให้มีลักษณะที่สะดุดตา ซึ่งข้างในใบของว่านหางจระเข้นั้นจะมีวุ้น และเมือกสีขาวขุ่น ซึ่งเป็นส่วนที่นิยมนำไปใช้นั่นเอง แต่รู้หรือไม่ว่า ส่วนอื่นๆ ของว่านหางจระเข้ก็มีประโยชน์เช่นกัน ทั้งในแง่การรักษา โดยนำมากินและทาในหลายรูปแบบ

เนื้อว่านหางจระเข้

99.5% ของเนื้อว่านหางจระเข้คือ น้ำ ส่วนที่เหลือ ประกอบไปด้วยสารไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) และโพลีแซคเคอไรด์ (polysaccharides) ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการผิวไหม้จากแสงแดด และแผลไฟไหม้แล้ว ยังมีการวิจัยว่าสามารถช่วยบรรเทาหรือแก้อาการปวดตามข้อ สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ ได้ผลดีอีกด้วย เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คล้ายกับยาระงับปวดชนิดที่ไม่ใช่เสตียรอยด์

ใบว่านหางจระเข้

ใบของว่านหางจระเข้นั้นมีรสเย็น มีส่วนประกอบของ อโลอิน (Aloin) และ อิโมดิน (Emodin) ที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวด ต่อต้านแบคทีเรียและไวรัส ในตำรับยาไทย มีบันทึกว่าสามารถนำมาใช้รักษาฝี และบรรเทาอาการปวดศีรษะได้

ต้นว่านหางจระเข้

ต้นของว่านหางจระเข้นั้น มีส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ถึง 6 ชนิด ได้แก่ ลูพิออล กรดซาลิซิลิค ไนโตรเจนในยูเรีย กรดซินนาโมนิก ฟีนอล และ ซัลเฟอร์  ซึ่งสามารถต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสได้

ยางและรากว่านหางจระเข้

ยางและรากของว่านหางจระเข้นั้น อุดมไปด้วยสารแอนทราควิโนน ที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านมะเร็ง เป็นยาระบาย และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ หรือที่รู้จักกันในตำรับยาไทยว่า “ยาดำ”

น้ำว่านหางจระเข้

น้ำที่สกัดได้จากว่านหางจระเข้มีสรรพคุณในการช่วยดับพิษร้อน จากแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือผิวไหม้จากแสงแดด นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าสารไกลโคโปรตีนสกัดจากน้ำว่านหางจระเข้ยังมีฤทธิ์รักษาฝ้า ลดรอยแผลเป็น รักษาโรคสะเก็ดเงิน ตาปลา หรือฮ่องกงฟุตได้อีกด้วย

ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน

จากการศึกษาพบว่าการรับประทานเนื้อว่านหางจระเข้อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของว่านหางจระเข้ด้านนี้ยังไม่เพียงพอ ทำให้ไม่อาจระบุประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ว่านหางจระเข้รักษาโรคเบาหวานได้อย่างแน่ชัด

ว่านหางจระเข้กินได้ไหม 

ว่านหางจระเข้นั้นกินได้แต่ต้องล้างเมือกออกให้หมด แต่กลิ่นอาจจะเหม็นเขียวพอควร ส่วนที่เป็นวุ้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เนื้อสัมผัสจะคล้าย ๆ กับวุ้นมะพร้าว ส่วนมากจะนำมาทำเป็นของหวาน เพราะสรรพคุณว่านหางจระเข้จะออกฤทธิ์เย็น จึงทำให้รู้สึกสดชื่น ไม่แนะนำให้กินสด ๆ จากต้น ควรล้างให้สะอาดและนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วจึงมานำรับประทาน 

ว่านหางจระเข้นั้นกินได้ ช่วยบำรุงผิวพรรณชุ่มชื้น

วิธีใช้ว่านหางจระเข้

  1. ควรเลือกต้นว่านหางจระเข้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ให้เลือกส่วนล่างสุดเนื่องจากจะมีวุ้นมากกว่าส่วนอื่น ๆ 
  2. นำว่านหางจระเข้มาแช่เย็นก่อนการใช้จะสดชื่นมากขึ้น 
  3. ควรล้างเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ให้สะอาดก่อนการใช้ทุกครั้ง เนื่องจากเมือกยางจากใบมีสาร Anthraquinone ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ 
  4. ไม่ควรใช้เป็นยาระบายหรือยาถ่ายในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีประจำเดือน และผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร 
  5. วุ้นของว่านหางจระเข้ถ้าปอกแล้วจะเก็บไว้ได้เพียง 6 ชั่วโมง ดังนั้นควรใช้ทันทีจะได้ประสิทธิภาพดีที่สุด 

การใช้ประโยชน์จากว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้สามารถนำมากินและทาได้ เนื่องจากแต่ละส่วนของว่านหางจระเข้มีสรรพคุณที่แตกต่างกัน โดยการนำว่านหางจระเข้มาใช้ในแต่ละรูปแบบนั้น มีดังนี้

ใช้ทาภายนอก

ว่านหางจระเข้มีคุณสมบัติที่ดีต่อผิวหนัง ช่วยลดอาการร้อน บวม พอง จึงสามารถนำมาใช้ทา หรือพอกในบริเวณต่างๆ เช่น ผิวหน้า ผิวกาย หรือตามผลการวิจัยบอกว่า หากนำมาทาตามจุดที่ต้องการ ก็สามารถบรรเทาอาการได้ เช่น แผลสด แผลไฟไหม้ หรือแผลน้ำร้อนลวก เป็นต้น

บำรุงผิวหน้า

เนื้อวุ้น สามารถนำมาใช้รักษาสิว หรือผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อมาส์คหน้าเพิ่มความชุ่มชื้นได้ อาจใช้ น้ำผึ้ง นมสด ขมิ้นชัน หรือดินสอพอง มาคลุกเคล้าและพอกหน้าไว้ประมาณ 15 นาที เมื่อล้างออก จะรู้สึกถึงผิวที่เย็น นุ่มสบาย หรืออาจรักษาอาการอื่นๆ ตามแต่ส่วนผสมที่ใช้

รักษาแผล

เมื่อเกิดแผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก รวมถึงผิวไหม้แดด หลายคนก็จะนึกถึงว่านหางจระเข้ ซึ่งสามารถใช้แบบสด ด้วยการเอาเนื้อวุ้นมาฝานเป็นแผ่นบางๆ แล้วแปะไว้ตามจุดที่ต้องการ จนกว่าจะรู้สึกว่าเนื้อวุ้นแห้ง เท่านี้ก็จะช่วยลดอาการอักเสบ และช่วยให้ผิวเรียบเนียนเร็วขึ้น

บรรเทาอาการปวดศีรษะ

ใครปวดหัวบ่อย ลองใช้ใบว่านหางจระเข้ ทาปูนแดงมาทาบลงบนขมับหรือท้ายทอยดู เพราะว่านหางจระเข้เป็นพืชที่กักเก็บความเย็นได้ดี ความเย็นนั้นก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้

ใช้กิน

เนื้อวุ้นของว่านหางจระเข้ มักจะถูกนำมาทำขนมหวาน แต่งานวิจัยในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า เนื้อวุ้นของว่านหางจระเข้ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการอักเสบในข้อได้  มีการนำมาสกัดให้เป็นผงเพื่อแปรรูปเป็นยา เพื่อบรรเทาอาการอักเสบในข้อได้ด้วย

บรรเทาอาการปวดข้ออักเสบ

เนื้อว่านหางจระเข้ มีสารไกลโคโปรตีน aloctin A, B ที่ช่วยลดอาการอักเสบต่างๆ ในร่างกาย จากงานวิจัยพบว่า ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบในข้อได้ ด้วยการชะลอความรุนแรงในผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ถึง 11% เมื่อได้รับผงอโลเวราร่วมกับเปปไทด์ถั่วเหลืองและถั่วลันเตาในอาหารเสริมโปรตีน ซึ่งส่วนที่นำมาสกัดได้นั้น หากเป็นเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้จากสายพันธุ์ Aloe Barbadensis จะอุดมไปด้วยแร่ธาตุ กรดอะมิโน และเอนไซม์ต่างๆ ที่มีสารอาหารช่วยบรรเทาและแก้อาการปวดข้ออักเสบหรือปวดตามข้อ ได้ดียิ่งขึ้น

แก้ร้อนใน

เนื้อว่านหางจระเข้สามารถช่วยบรรเทาหรือรักษาแผลที่เกิดจากความร้อนตามผิวหนังได้ การกินว่านหางจระเข้ก็จะช่วยแก้อาการร้อนในภายในร่างกายได้เช่นกัน หากเป็นแผลร้อนในในช่องปาก สามารถนำเนื้อว่านหางจระเข้สดๆ มาคั้น แล้วใช้บ้วนปาก 1-3 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน จะช่วยให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้นได้

ว่านหางจระเข้สามารถช่วยบรรเทาหรือรักษาแผลที่เกิดจากความร้อนตามผิวหนังได้ ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของว่านหางจระเข้มีมากมาย ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมปัจจุบันนี้จึงได้มีการนำเอาส่วนต่างๆ มาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและยารักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสมก็มักได้รับความนิยม และยังเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม : หน้าร้อนนี้ระวังผิวอาจพังโดยไม่รู้ตัว

kanyarat sakunkim

kanyarat sakunkim

2 comments

Andy Anderson

Andy Anderson

March 12, 2022

Mary Williams

Mary Williams

March 12, 2022

Tell us what you think!

You are replying to Mary Williams. You can post a new comment instead.

บทความที่เกี่ยวข้อง